13
7 วิธีสื่อสารเมื่อลูกไม่ยอมฟัง

7 วิธีสื่อสารเมื่อลูกไม่ยอมฟัง

โพสต์เมื่อวันที่ : July 16, 2025

 

"ลูกไม่ยอมฟัง !" ปัญหาที่พ่อแม่หลายคนอาจเคยเผชิญบ่อยครั้งในการเลี้ยงลูก

 

การที่ลูกไม่ยอมฟังนั้นมีหลายสาเหตุ หากเราเข้าใจสาเหตุเหล่านี้ เราจะสามารถย้อนกลับมาทบทวนวิธีการ "สื่อสาร" ของเราเองว่า มีจุดไหนที่อาจต้องปรับปรุงหรือไม่ สำหรับพ่อแม่ที่รู้สึกเหนื่อยกับการต้องดุเมื่อลูกไม่ยอมฟัง ลองมาดู “วิธีการสื่อสาร" ที่จะช่วยให้ลูกยอมฟังโดยไม่ต้องดุ

 

 

เคล็ดลับการสื่อสารเมื่อลูกไม่ยอมฟัง

การสื่อสารกับลูกอย่างเหมาะสมจะช่วยพัฒนา "ทักษะการฟัง” ของลูกได้ เมื่อพูดซ้ำ ๆ แล้วลูกยังไม่เข้าใจ หรือเมื่อมีเรื่องสำคัญที่อยากให้ลูกเข้าใจ เรามักเผลอใช้เสียงแข็งหรือดุอย่างไม่รู้ตัว เพื่อไม่ให้ลูกมองคำพูดของพ่อแม่เป็นเพียง “เสียงรบกวน” เราควรใช้วิธีสื่อสารที่เหมาะสม

 

1. หยุดสิ่งที่กำลังทำก่อน หากเรามัวแต่ทำงานบ้านหรือทำอย่างอื่นไปด้วยในขณะที่พูดกับลูก ลูกก็อาจทำบางอย่างไปด้วยและฟังเราแบบผ่าน ๆ เหมือนกัน ถ้าอยากให้ลูกฟังจริง ๆ เราควรหยุดสิ่งที่กำลังทำแล้วหันมามองลูก และตั้งใจสื่อสารกับลูกโดยตรง จะช่วยให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกที่สื่อสาร

 

2. มองสบตาลูก : การสบตากับลูกเป็นวิธีสำคัญที่จะดึงความสนใจของลูกมาที่เรา หากลูกกำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น การพูดของเราก็จะไม่สามารถเข้าถึงลูกได้ พ่อแม่ควรหยุดมือจากสิ่งที่ทำ แล้วนั่งลงสบตากับลูก ตรวจสอบเป็นระยะว่าลูกเข้าใจที่เราพูดหรือไม่ และอย่าพูดคนเดียวโดยไม่ดูปฏิกิริยาของลูก ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งควรสบตาลูก เพราะเด็กจะรับรู้ผ่านสีหน้าและน้ำเสียงของพ่อแม่

 

3. ใช้คำพูดที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง : คำที่คลุมเครือ เช่น “นั่งดี ๆ” หรือ “เดินดี ๆ” เด็กอาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ควรพูดให้ชัดเจน เช่น “นั่งพิงพนัก เก็บหลังตรง” หรือ “จับมือแม่ เดินไปพร้อมกัน” การใช้คำพูดที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

 

4. บอกทีละเรื่อง : ถ้าพูดหลาย ๆ เรื่องในครั้งเดียว เด็กอาจจะรับข้อมูลไม่ทัน และอาจจดจำได้เพียง 1-2 เรื่องเท่านั้น ดังนั้นพ่อแม่ควรเลือกพูดเฉพาะเรื่องสำคัญทีละ 1-2 เรื่องในแต่ละครั้ง

 

5. แทนการห้ามด้วยการสอน : วัย 4 ขวบขึ้นไป เด็กจะเริ่มดื้อและตั้งใจทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้าม เช่น “อย่าวิ่งในร้าน” เปลี่ยนเป็น “เราเดินช้า ๆ ในร้านนะ” หรือแทนที่จะบอกว่า “ห้ามจับของ” ให้พูดว่า “เราดูด้วยตาอย่างเดียวนะ” เมื่อพ่อแม่ห้าม เด็กจะยิ่งอยากทำ ดังนั้นควรบอกในเชิงบวกแทน

 

6. อธิบายเหตุผล : เด็กวัยนี้มักถามว่า “ทำไม ?” ไม่ใช่เพราะดื้อ แต่เพราะอยากรู้เหตุผล ถ้าพ่อแม่บอกเหตุผลเพิ่มเติม ลูกจะเข้าใจและยอมรับได้ง่ายขึ้น

 

7. หลีกเลี่ยงการข่มขู่ : หากพ่อแม่ใช้คำขู่บ่อย ๆ ลูกจะเริ่มชินและไม่สนใจคำขู่นั้นในที่สุด อีกทั้งถ้าสุดท้ายพ่อแม่เป็นฝ่ายแก้ปัญหาให้ ลูกจะไม่เชื่อในคำพูดที่ไม่มีผลจริง การข่มขู่ทำให้พ่อแม่ต้องเริ่มสร้างความน่าเชื่อถือใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นภาระที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 

การที่ลูกไม่ยอมฟัง อาจเกิดจากวิธีการสื่อสารของพ่อแม่ ถ้าลูกฟังเข้าใจในครั้งแรก พ่อแม่จะไม่ต้องดุซ้ำ ๆ ซึ่งช่วยลดความเหนื่อยล้าทางใจได้มาก เมื่อพ่อแม่สื่อสารได้ตรงจุด พฤติกรรมและคำพูดของลูกก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

 

 

ลองปรับวิธีการพูดให้เหมาะกับวัยและพัฒนาการของลูก เพื่อสร้างการสื่อสารที่ดีและอบอุ่นในครอบครัวค่ะ

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

 

บทความแนะนำ