30
Parental Burnout ภาวะหมดไฟของพ่อแม่

Parental Burnout ภาวะหมดไฟของพ่อแม่

โพสต์เมื่อวันที่ : July 6, 2025

 

Parental Burnout ภาวะหมดไฟที่พ่อแม่อาจเผชิญ พร้อมวิธีสังเกตอาการเพื่อสุขภาพจิตที่ดี

 

"ภาวะหมดไฟ" (Burnout) ไม่ใช่เรื่องของคนทำงานเท่านั้น เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงเคยได้ยิน Burnout (ภาวะหมดไฟ) คำที่พูดกันมานาน องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่ามักเกิดในกลุ่มวัยทำงาน แต่คนปกติอย่างเรา ๆ ก็สามารถเกิด Burnout ได้เช่นกัน ภาวะหมดไฟเป็น ความเครียดเรื้อรัง ซึ่งทำให้รู้สึก พลังงานหมด ไม่มีเรี่ยวแรง, หดหู่ รู้สึกเชิงลบ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง

 

อาชีพพ่อแม่ : งานที่ไม่มีวันหยุด

การเกิดภาวะ Burnout ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะวัยทำงานหรือวัยเรียน จริง ๆ แล้วอาชีพพ่อแม่ก็เกิดการเบิร์นเอาต์ได้เหมือนกัน ความแตกต่างคือ อาชีพอื่น ๆ อาจจะมีพักร้อน แต่อาชีพพ่อแม่ลาออกไม่ได้เลย ต่อให้เราเป็นพ่อแม่ที่เก่งแค่ไหน เข้มแข็งขนาดไหน มันก็มีวันที่เราเหนื่อยล้าได้ คนเข้มแข็งก็เหนื่อยได้เหมือนกัน

 

เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคนที่หมดไฟเขาไม่สู้ เขายอมแพ้ จริง ๆ แล้วเขาสู้เต็มที่แล้ว ออกแรงสุด ๆ แล้ว แต่มันหาทางออกไม่ได้ หรือไม่รู้จะไปทางไหน ทางที่ดีคือการรับคำแนะนำและขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่การฝืนทนต่อไป

 

แต่ละคนการแสดงออกของภาวะหมดไฟมีความแตกต่างกัน ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตตัวเองว่าก่อน-หลังมีลูกตัวเราแตกต่างกันแค่ไหน อารมณ์ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การจัดการความเครียด ทำได้ยากขึ้น อาการนอนไม่หลับ หรือนอนเยอะ เบื่ออาหาร หรือกินเยอะ เมื่อการกิน การนอนเปลี่ยนไป สุขภาพร่างกายจะรวนไปหมด

 

 

เมื่อเราเข้าใจว่าตัวเองกำลังเผชิญกับ Parent Burnout แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้จักวิธีรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ การฟื้นคืนพลังใจของพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความอดทน

 

4 ข้อ เติมไฟ...ก่อนเบิร์นเอาต์

 

➊. ยอมรับความรู้สึก

⎯ อย่าปฏิเสธหรือแกล้งทำเป็นแข็งแกร่ง การยอมรับว่าเราเหนื่อยล้าเป็นก้าวแรกของการรักษา การยอมรับไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการเปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

➋. ขอความช่วยเหลือ

⎯ หลายคนคิดว่าการขอความช่วยเหลือเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่ความจริงแล้ว มันเป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งและความฉลาดทางอารมณ์ เช่น การขอความช่วยเหลือแบ่งหน้าที่การดูแลลูก หรือบางทีเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ อาจจะขอปู่ย่าตายายให้ช่วยดูแลลูกสักชั่วโมงสองชั่วโมง นี่ถือเป็นโอกาสดีที่ให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะสังคม

 

. ดูแลตัวเอง

⎯ การดูแลตัวเองเป็นหนึ่งในเรื่องที่ช่วยให้เราสามารถดูแลลูกได้ดี เพราะอะไร ? ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มีสุขภาพกาย-ใจที่ดีจะสามารถเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้ ลองหาเวลาพักผ่อนแม้จะน้อยนิดก็ทำได้จากกิจวัตรประจำวัน เช่น การมาส์กหน้า แปรงฟันแบบใส่ใจ สระผมก็ชโลมครีมนวด ดื่มน้ำให้เพียงพอ ก่อนนอนก็นั่งสมาธิสัก 5 นาที แค่นี่ก็เป็นการดูแลตัวเองแล้ว ☻

 

. ปรับความคาดหวัง

ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบเสมอไป การทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ ชื่นชมตัวเองจากเรื่องเล็ก ๆ จากในกิจวัตรประจำวัน 

 

การเป็นพ่อแม่เป็นหน้าที่ที่ท้าทายและยาวนาน การดูแลตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่เราจะสามารถดูแลลูกได้อย่างดีที่สุด เมื่อเรามีสุขภาพจิตที่ดี เราจะสามารถให้ความรักและการดูแลที่ดีที่สุดแก่ลูก ๆ ได้

 

 

Parental Burnout เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และคุณพ่อคุณแม่ทุกคนสามารถผ่านไปได้ด้วยเช่นกัน เมื่อเรารู้จักวิธีรับมืออย่างถูกต้อง เราไม่เพียงแต่จะสามารถฟื้นคืนพลังใจได้ แต่ยังจะกลายเป็นพ่อแม่ที่เข้มแข็งและมีความสุขมากขึ้น การดูแลตัวเองวันนี้ คือ ของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะมอบให้ลูก ๆ ในอนาคต เพราะพ่อแม่ที่มีความสุขจะสามารถเลี้ยงดูลูกที่มีความสุขได้

 

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

 

บทความแนะนำ